โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorways)

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา

ระยะทางรวม 196 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท

ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2549 รวมถึง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 และดำเนินการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในปี พ.ศ. 2560

ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธาซึ่งแบ่งออกเป็น 40 สัญญา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างงานระบบ การดำเนินงานและการบำรุงรักษาภายหลังจากโครงการเปิดให้บริการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กรมทางหลวงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบและจัดเก็บรายได้ทั้งหมดส่งมอบให้แก่ภาครัฐ โดยภาคเอกชนจะได้รับค่าจ้างตอบแทนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด

 

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญขนบุรี

ระยะทางรวม 96 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 50,200 ล้านบาท ค่าเวนคืน 5,420 ล้านบาท วงเงินลงทุนรวม 55,620 ล้านบาท

ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบ่งเป็น 2 ตอน ช่วงบางใหญ่–บ้านโป่ง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 และช่วงบ้านโป่ง–กาญจนบุรี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2546 รวมถึง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 และดำเนินการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในปี พ.ศ. 2560

ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธาซึ่งแบ่งออกเป็น 25 สัญญา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างงานระบบ การดำเนินงานและการบำรุงรักษาภายหลังจากโครงการเปิดให้บริการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กรมทางหลวงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบและจัดเก็บรายได้ทั้งหมดส่งมอบให้แก่ภาครัฐ โดยภาคเอกชนจะได้รับค่าจ้าง/ตอบแทนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด

 

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด

ระยะทางรวม 31.159 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท วงเงินลงทุนรวม 20,200 ล้านบาท

ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 รวมถึง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556

และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการ โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางตามแผนประมาณการรายจ่ายกระทรวงการคลัง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2563